สมาคมผู้ถือหุ้นไทยTHAI SHAREHOLDER ASSOCIATION
tsa.or.th
ข่าวสารความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนักลงทุน

TASCO: Episode II การเติบโตอย่างนี้....มีภาคต่อ (ยังไม่จบ)

  TASCO: Episode II การเติบโตอย่างนี้....มีภาคต่อ (ยังไม่จบ)

 

 

หุ้น TASCO แม้ผ่านการขึ้นรอบใหญ่จากต้นปีที่ 6.5 บาทต่อหุ้น มาราว ๆ 500% มาที่ราคาสูงสุดถึง 43.5 บาทต่อหุ้น แต่เชื่อว่าราคาที่มาถึงระดับนี้ได้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมากทำให้สเปรดของยางมะตอยจากที่เคยติดลบกลายเป็นบวก เพราะดีมานด์ยางมะตอยก็เพิ่มขึ้นมากจากการเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐของประเทศที่เป็นลูกค้า TASCO ไม่ว่าจะเป็นจีน ออสเตรเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ประกอบกับ TASCO รุกเข้าถือหุ้นในโรงกลั่นที่มาเลเซียเพิ่มจาก 50% เป็น 100% ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2014 เราถือว่าเรื่องราว TASCO ที่ดำเนินมาถึงช่วงนี้นับเป็น TASCO Episode I แต่นับจากประกาศควบรวมกิจการ 5 แห่ง และตั้งเป้าจะเติบโตอย่างมากใน 5 ปีข้างหน้า TASCO น่าจะเติบโตต่อไปได้ในช่วงนับจากนี้ เราจึงตั้งให้เป็น TASCO ใน Episode II

 

TASCO Episode II: หลังประกาศงบการเงินไตรมาส 3/15 ที่กำไรทำ All Time High บริษัทก็เปิดเผยแผนเข้าควบรวมกิจการ 5 แห่งที่เป็นบริษัทลูกของ Colas ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดใน TASCO (ปัจจุบัน COLAS ถือหุ้น TASCO อยู่ 31.81%) กิจการที่ TASCO เข้าควบรวมเป็นกิจการผลิตและจำหน่ายยางมะตอยในเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย รวมถึงกิจการเรือ 2 ลำในสิงคโปร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 61.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2,200 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าถือหุ้น 100% ใน 4 บริษัทแรก คือ (1) ADCo: Asphalt Distribution Co Ltd ผู้ผลิตและจำหน่ายยางมะตอยในเวียดนาม (2)ABS: PT Asphalt Bangun Sarana and Subsidiary ผู้ผลิตและจำหน่ายยางมะตอยในอินโดนีเซีย (3)RTL: Reta Link Pte Ltd และ (4)ADS: AD Shipping Pte Ltd บริษัทที่ 3 และ 4 นี้เป็นธุรกิจเรือขนส่งยางมะตอย (5)Roycol: Roycol Asphalt Ltd ผู้ผลิตและจำหน่ายยางมะตอยในประเทศไทย  TASCO ได้ถือหุ้นบริษัทที่ 5 นี้ 38% แทนที่ส่วนที่ Colas ถืออยู่

 

ไฮไลท์ของการซื้อกิจการครั้งนี้อยู่ที่สองบริษัทแรกซึ่งอยู่ในเวียดนามและอินโดนีเซียซึ่งเมื่อรวมกิจการเข้ามาจะทำให้ยอดขายยางมะตอยของ TASCO ในปี 2016 เพิ่มขึ้นอีก 290,000 ตัน เป็น 2.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2015 ที่ขายได้ 2.3 ล้านตัน  ถ้าสเปรดยางมะตอยต่อน้ำมันดิบดีเหมือนปี 2015 ประเมินได้คร่าว ๆ ว่าทุก ๆ หนึ่งล้านตันที่เพิ่มขึ้น TASCO หรือแม้แต่โรงกลั่นทั่วไปน่าจะทำกำไรได้ราว ๆ 2,000 ล้านบาท ถ้าเพิ่มมาอีก 300,000 ตัน  TASCO ก็อาจมีกำไรเพิ่มได้ราว 500 ล้านบาท แม้รวมกับต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการแล้วก็คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2016 ประมาณ 300-400 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย การซื้อกิจการครั้งนี้เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อ TASCO ทำให้ต่อยอดธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยทั้งสองประเทศนี้ไม่มีโรงกลั่นยางมะตอยโดยตรง แต่ผลผลิตที่ได้เป็นผลพลอยได้มาจากโรงกลั่นน้ำมัน

 

ธุรกิจยางมะตอยในเวียดนาม และธุรกิจของ ADCo: ในเวียดนามมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย ส่วนแบ่งการตลาดทั้งสามรายนี้รวมกันเท่ากับ 71% ของตลาดรวม TASCO น่าจะเป็น ผู้จัดจำหน่ายรายหนึ่งในนั้น แต่คาดว่าไม่ได้ใหญ่ที่สุด สำหรับ ADCo เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่เป็นอันดับสอง มีส่วนแบ่งการตลาด 22% ทำให้การจัดจำหน่ายยางมะตอยในเวียดนามเพิ่มขึ้น จากที่ในปี 2015 จำหน่ายรวม 100,000 ตัน แต่ปี 2016 เป็นต้นไป จะขยายอีก 200,000 ตัน รวมเป็น 300,000 ตันต่อปี  นอกจากนี้ ก็มีสินทรัพย์เพิ่มเข้ามาเป็นรถบรรทุก 70 คัน คลังยางมะตอย 4 แห่ง โรงงานผลิต Polymer Modified Asphalt (PMA plant) อีก 3 แห่ง และโรง Emulsion Asphalt อีก 3 แห่ง ช่วงปี 2015-2019 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตดี คาด GDP growth เท่ากับ 5.7% และคาดการณ์ความต้องการใช้ยางมะตอยของเวียดนาม เติบโต 7.07% ต่อปี สำหรับช่วงปี 2009-2034

TASCO จัดสรรเงินซื้อ ADCo ในวงเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเงินที่มาจากส่วนทุนของ TASCO ทั้งหมด ADCo มี EV/EBITDA เท่ากับ 2.36 เท่า ค่า PER 2.76 เท่า และ P/BV เท่ากับ 1.65 เท่า ภาระหนี้สินอยู่ราว 1 เท่า แต่กระแสเงินสดหมุนเวียนมีจำกัด ตามงบประมาณที่ Colas ซึ่งเป็นบริษัทแม่จัดสรรมาให้ ทำให้การรุกตลาดทำได้ค่อนข้างจำกัด

 

ธุรกิจยางมะตอยในอินโดนีเซีย และธุรกิจของ ABS: ในอินโดนีเซียมีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย แต่สามรายแรกมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันเท่ากับ 44%  โดย ABS เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดราว 8% ก็เชื่ออีกเหมือนกันว่า TASCO ก็เป็นผู้จำหน่ายยางมะตอยรายหนึ่งในตลาดนี้ด้วยเหมือนกัน ในตลาดอินโดนีเซียนี้ ผู้ประกอบการจะต้องสามารถจัดจำหน่ายยางมะตอยให้ตามความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ที่เป็นเกาะ ซึ่งยากลำบากต่อการขนส่ง ทั้งนี้ในอินโดนีเซีย การจำหน่ายในปี 2015 มียอดจำหน่ายรวม 300,000 ตัน แต่ในปี 2016 คาดว่าจะเพิ่มปริมาณขายอีก 90,000 ตัน จาก ABS เป็น 390,000 ตัน นอกจากนี้ได้สินทรัพย์เพิ่มมาเป็นรถบรรทุก 50 คัน คลังยางมะตอย 6 แห่ง โรงงานผลิต Polymer Modified Asphalt (PMA plant) อีก 1 แห่ง และโรง Emulsion Asphalt อีก 3 แห่ง ช่วงปี 2015-2019 เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตดี คาด GDP growth เท่ากับ 6.0% และคาดการณ์ความต้องการใช้ยางมะตอยของอินโดนีเซีย เติบโต 5.43% ต่อปี สำหรับช่วงปี 2009-2034

TASCO ได้จัดสรรเงินซื้อ ABS ในวงเงิน 9.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ใช้ส่วนทุนของ TASCO ลงทุนทั้งจำนวน)  ABS มี EV/EBITDA เท่ากับ 4.28 เท่า ค่า PER 4.23 เท่า และ P/BV เท่ากับ 1.05 เท่า ภาระหนี้สินไม่มากอยู่ราว 1 เท่า แต่กระแสเงินสดหมุนเวียนมีจำกัด ตามงบประมาณที่ Colas ซึ่งเป็นบริษัทแม่จัดสรรมาให้ ทำให้การรุกตลาดทำได้ค่อนข้างจำกัด

 

นอกจากนี้การได้กิจการ Roycol จำหน่ายยางมะตอยในไทย ด้วยมูลค่าลงทุน 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กิจการเรือ AD Matsu ด้วยเงินลงทุน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นส่วนทุน 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินกู้อีก 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ Reta Link ด้วยเงินลงทุน 5.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แยกเป็นส่วนทุน 0.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินกู้ 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมมูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้ 61.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใช้เงินลงทุนจากกระแสเงินสดภายในกิจการของ TASCO เองเท่ากับ 49.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินกู้ 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

การที่ COLAS ขายธุรกิจให้ TASCO เกิดจากการที่ TASCO เข้าไปติดต่อขอซื้อกิจการดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเมื่อเข้าไปบริหารจะรุกตลาดในประเทศนั้น ๆ จะสามารถเพิ่มปริมาณขาย รุกส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากเห็นปัญหาที่ทำให้ขยายตลาดได้ไม่มากทั้งที่ดีมานด์ความต้องการยางมะตอยในประเทศนั้นสูง เพราะกระแสเงินสดมีจำกัดตามการจัดสรรงบประมาณของ COLAS อีกทั้ง เป็นธุรกิจเล็กเมื่อเทียบกับธุรกิจใหญ่หลัก ๆ ของ COLAS ซึ่งบริษัทแม่เห็นความสำคัญไม่มาก นอกจากนี้ COLAS ถือหุ้น 31.81% ใน TASCO อยู่แล้ว หาก TASCO ทำแล้วได้กำไรดีขึ้นมาก COLAS ก็รับรู้กำไรทางอ้อมดีขึ้นด้วย

 

แผนขยายกิจการในอีก 5 ปีข้างหน้า ถึงปี 2020 คือ เพิ่มสายผลิตภัณฑ์จากเดิมเน้นที่ยางมะตอยในเอเชียแปซิฟิค ปริมาณจำหน่ายต่อปีประมาณ 2 ล้านตัน ต่อไปจะเป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งยางมะตอยและผลิตภัณฑ์ในสายปิโตรเลียม เช่นพวก Lube Base (น้ำมันเครื่อง) ขยายตลาดไปทั่วโลก และเพิ่มปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เป็น 6 ล้านตันภายในปี 2020 กลยุทธ์ที่จะดำเนินการคือ 1.การขยายธุรกิจยางมะตอยที่ดำเนินการอยู่ 2.ขยายตัวสู่ธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสายธุรกิจเดิม และ 3.ขยายกำลังการผลิตโรงกลั่นจากปัจจุบัน 30,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเทียบเป็นผลผลิตยางมะตอยจากโรงกลั่น 1.314 ล้านตันต่อปี ใช้น้ำมันดิบเข้าโรงกลั่น 10.95 ล้านบาร์เรลต่อปี TASCO จะเพิ่มกำลังการผลิตโรงกลั่นเป็น 50,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบเป็นผลผลิตยางมะตอย 2.19 ล้านตันต่อปี เพิ่มขึ้น 67%  ใช้น้ำมันดิบเข้าโรงกลั่น 18.25 ล้านตันต่อปี แผนดังกล่าวใช้เงินลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 3,600 ล้านบาท การดำเนินการจะเสร็จสิ้นปี 2019 ปัจจุบันใช้กำลังการผลิต 90%  

 

นอกจากนี้ ในช่วง พ.ค. 2015 TASCO ได้ลงนามสัญญากับ SK Energy  เพื่อแต่งตั้งให้ TASCO เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเครื่องให้แก่กลุ่มบริษัทที่เป็นลูกค้าภายในประเทศของ TASCO ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 200 บริษัท การดำเนินธุรกิจนี้จะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2016 เป็นต้นไป คาดว่าคงเพิ่มรายได้และกำไรให้กับ TASCO ระยะเริ่มต้นกำไรคงอยู่ระดับต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ แต่ต้องพึงระมัดระวังเกี่ยวกับค่าเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินเกาหลีใต้ หรือค่าเงินสิงคโปร์ เพราะต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่ายในประเทศ

 

เดิมเราก็วิตกกังวลว่าแผนการขยายกำลังการผลิตโรงกลั่นยางมะตอยที่มาเลเซียเพิ่มอีกเกือบเท่าตัว อาจจะนำมาซึ่งภาวะ oversupply ในอนาคตข้างหน้า แต่เมื่อเห็นแผนของหลายกิจการโรงกลั่นน้ำมัน ที่มีผลผลิตยางมะตอยเป็น by product ซึ่งหลายแห่งจะทำการ upgrade โรงกลั่นให้ได้น้ำมันสำเร็จรูปใส ประเภท เบนซิน ดีเซล เพิ่มขึ้น จะทำให้ผลผลิตน้ำมันเตา และยางมะตอยลดลง เช่น โรงกลั่นของ IRPC ประกาศแผนออกมาแล้วว่าจะ upgrade โรงกลั่นปัจจุบันเพิ่มผลผลิตน้ำมันใส และลดผลผลิตน้ำมันเตาจาก 20% เหลือ 8% เหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้ซัพพลายยางมะตอยลดน้อยลง โอกาสเกิดซัพพลายล้นตลาดอาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่กังวล ซึ่ง TASCO เห็นแผนเหล่านี้ของผู้ประกอบการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว มองอนาคตยางมะตอยไม่ล้นตลาดในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

ย้อนรอยจุดเริ่มต้นของ Episode I: จุดเปลี่ยนสู่การ Turnaround ที่สำคัญของ TASCO เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2014 ซึ่งต้องย้อนรอยไปสู่ที่มาในช่วงปี 2007-2008 ที่ TASCO เริ่มมีโรงกลั่นยางมะตอย  ในประเทศมาเลเซีย โดยถือหุ้น 50% ทั้งนี้เกิดจากการที่  TASCO ตกลงซื้อโรงกลั่น Kemanman Oil Sdn Bhd (KOC) และ Kemanman Bitumen Co Sdn Bhd (K-BC) ที่มาเลเซีย โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% ร่วมกับ Seloga Holding สัญชาติมาเลเซีย มาตั้งแต่ปี 2007 และเริ่มการผลิตได้ราวปี 2008 เงินลงทุนตั้งต้นอยู่ที่ราว 2,600 ล้านบาท เป็นเงินกู้ของบริษัท 2,000 ล้านบาท และ TASCO และ Seloga ใส่เงินลงทุนฝ่ายละ 300 ล้านบาท แต่กว่าฝ่าย Seloga จะใส่เงินเข้ามาได้ก็ยื้อเวลาอยู่นาน พอโรงกลั่นเริ่มการผลิต ราคาน้ำมันก็พุ่งกลับขึ้นมาที่ราว 100 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงหลังพ้นวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐฯ ทำให้การผลิตยางมะตอยไม่คุ้มทุน ส่งผลให้ผลประกอบการของ TASCO ย่ำแย่มาหลายปี เพราะการผลิตไม่คุ้มต้นทุนน้ำมันที่แพงมาก จนกระทั่งกลางปี 2014 TASCO เข้าเจรจาซื้อหุ้นอีก 50% จาก Seloga เป็นเงิน 700 ล้านบาท เราสอบถามผู้บริหารในวันที่มี Analyst Meeting ช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ทำไมถึงไปซื้อหุ้นอีกครึ่งหนึ่งมาได้ในจังหวะที่ดีมาก เพราะราคาน้ำมันปรับตัวลงมารวดเร็ว ยิ่งต้นทุนน้ำมันถูก TASCO ยิ่งได้ประโยชน์จากวัตถุดิบราคาต่ำ ผู้บริหารตอบว่า TASCO ขอซื้อกิจการ KOC และ KBC ในราคาต้นทุนเงินที่ลงทุนไป บวกดอกเบี้ย 6-7 ปี ก็เป็นเงินเกือบ 1 เท่าตัวของเงินลงทุนตั้งต้นที่ Seloga ลงไป ซึ่งเขาก็พอใจ เพราะตั้งแต่เริ่มธุรกิจโรงกลั่น ผลประกอบการก็ไม่สดใสมาตลอดเพราะน้ำมันที่เป็นต้นทุนราคาสูง ซึ่งตอนนั้น TASCO เริ่มเห็นแนวโน้มแล้วว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลง ซึ่งก็เป็นตามที่ TASCO คาด เพราะหลังจากซื้อมาได้ครบ 100% ราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงต่อเนื่องอย่างรวดเร็วมาก ยิ่งทำให้มาร์จิ้นของโรงกลั่นดีขึ้น สเปรด Bitumen ลบ High Sulphur Fuel Oil (HSFO) จากที่เคยติดลบ เฉลี่ยราวปีละ -60 ถึง -70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน กลับกลายเป็น +85 เหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/14 เป็นครั้งแรกที่บวกมาก แม้ไตรมาส 1/15 และ 2/15 สเปรดจะลงมาอยู่ที่บวก 20-25 เหรียญสหรัฐฯ แต่ปรากฏว่า TASCO ก็หันไปหาผลิตภัณฑ์ Bitumen Mixer มาขายเพิ่มอีก 250,000 ตัน ในช่วงนั้น ทำให้กำไรรวมของบริษัทไม่ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/15   จนกระทั่งไตรมาส 3/15 เห็นค่าสเปรดกลับมาเป็น +82 เหรียญสหรัฐฯ อีก และเป็น +93 เหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/15 เหตุเพราะราคาน้ำมันอ่อนตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3/15 และ 4/15 (ข้อมูลเกี่ยวกับสเปรดนี้ได้มาจาก  Presentation ของ Thai Oil Plc ใน Opportunity Day)

 

ในส่วนของราคาน้ำมันดิบที่นำมาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงกลั่น TASCO ได้มีการตกลงทำสัญญาซัพพลายน้ำมันระยะยาว 10 ปี กับผู้ผลิตน้ำมันในเวเนซูเอล่า ด้วยราคาที่ถูกกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์อย่างมาก ราคาที่มีส่วนต่างจากราคาน้ำมันเบรนท์นี้คิดเป็น xx เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (จงใจไม่ใส่ตัวเลข) ไม่ได้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ลดลง ทั้งนี้เพราะน้ำมันดิบที่ TASCO ใช้ทำยางมะตอย ไม่ใช่น้ำมันดิบคุณภาพสูง เป็นน้ำมันที่มีความหนืดมาก ซึ่งน้ำมันคุณภาพแบบนี้ ขายให้โรงกลั่นไหนก็ไม่มีใครอยากรับซื้อ แต่ราคาถูกปัจจัยดังกล่าวยิ่งสร้างผลบวกให้ TASCO มีมาร์จิ้นดีขึ้น  

 

ราคายางมะตอยเอเชีย ปัจจุบันอยู่ในระดับราว 325 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงราว 28% YoY ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงกว่า 40% YoY ในขณะที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคายางมะตอย ลดลงเพียง 7.8% แต่ราคาน้ำมันดิบลดลง 8.6%  โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบกลับขึ้นไปยืน 80 เหรียญสหรัฐฯ ค่อนข้างยาก แต่หากราคาน้ำมันกลับมาเป็นขาขึ้นก็ถือว่าเป็นการจบรอบของ TASCO

 

TASCO พลิกกลับมาทำกำไรดีมาก โดยปี 2015 คาดว่าคงทำกำไรได้ราว 5,400 ล้านบาท หรือราว 3.5 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นเกิน 4 เท่าตัวจากกำไรของปี 2014 แนวโน้มการจัดโครงสร้างธุรกิจเพิ่มธุรกิจใหม่เข้ามา คาดว่าปี 2016 จะทำกำไรเพิ่มได้จากปี 2015 อีก หากราคาน้ำมันเฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเราเชื่อว่าราคาน้ำมันในปี 2016 ก็ยังไม่มีหนทางจะปรับตัวขึ้น อาจจะถูกกดให้อ่อนตัวลงไปแตะระดับ 35-45 เหรียญสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ เนื่องจากซัพพลายของธุรกิจปิโตรเลียมต้นน้ำยังล้นตลาด และคาดว่าปี 2016 จะเริ่มถูกกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมกลางน้ำอย่างเช่นโรงกลั่นน้ำมัน บีบซื้อน้ำมันในราคาถูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ค่อยได้  ปี 2016 คาดหวังเห็นกำไรสุทธิราว 6,300 ล้านบาท หรือราว 4 บาทต่อหุ้น

 

บทสรุปการลงทุน เนื่องจากคาดว่า ครึ่งหลังปี 2014-ปี 2015 เป็นยุคที่ราคาน้ำมันลง 1 ปีที่ผ่านมาลงมากถึง 40%  นักลงทุนควรเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันลง คือต้องเป็นหุ้นที่ใช้น้ำมันเป็นต้นทุนการผลิต  อันที่จริงโรงกลั่นทุกโรง รวมถึง TASCO ก็น่าจะได้ประโยชน์ แต่เนื่องจากในปีที่ผ่านมาโรงกลั่นใหญ่ ๆ ก็โดน Stock Loss ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงด้วย แต่ในปี 2016 เราน่าจะเข้ามาในยุคราคาน้ำมันต่ำต่อเนื่อง และอาจจะต่ำอย่างยาวนานสัก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย  ดังนั้นควรหาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันทรงตัวต่ำ ๆ แต่สินค้าปลายทางยังมีดีมานด์ที่ดี เราคาดว่า ต่อให้ราคาน้ำมันลง ก็ลงอีกไม่มากนัก การที่ราคาน้ำมันต่ำ จะทำให้โรงกลั่น และผู้ขายของที่เป็นผลิตภัณฑ์รับมาจากโรงกลั่นได้ประโยชน์ถ้วนหน้า รวมถึงยางมะตอยด้วย ยางมะตอยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้ประโยชน์มากมาตั้งแต่ราคาน้ำมันเป็นขาลงแล้ว ปี 2016 ก็คาดว่าจะดีต่อเนื่อง และน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะดีมานด์ยางมะตอยไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในภูมิภาคอาเซียน ยังเติบโตดีอย่างมาก โดยเฉพาะจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งกำลังพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคอย่างมาก ลำดับถัดไปจะมีประเทศพม่า และกัมพูชา ที่เป็นดีมานด์ใหม่เข้ามา นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้วอย่างเช่น สหรัฐฯ และจีน ก็ยังมีความต้องการใช้ยางมะตอยอย่างไม่หยุด สหรัฐฯ แม้ไม่ตัดถนนใหม่ แต่ต้องมีต้องการเพิ่ม 3.3% ต่อปี สำหรับการราดเพื่อซ่อมแซมผิวถนน จีนก็เช่นกัน คาดว่าดีมานด์ในจีนก็ยังเติบโตราว 4.9% ต่อปี ดังนั้นเราเชื่อว่าดีมานด์ยางมะตอยยังมีต่อไปไม่หยุด แต่นับจากนี้ผลดีที่จะเกิดกับธุรกิจยางมะตอย คือราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำนาน ๆ ซัพพลายคาดว่าไม่เพิ่มขึ้น เพราะคู่แข่งสำคัญของโรงกลั่นยางมะตอย คือ โรงกลั่น ก็มีข้อจำกัด คือ ไม่มีเรือและรถบรรทุกสำหรับให้บริการ ซึ่งเรือหรือรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งยางมะตอยต้องได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้เฉพาะด้านนี้เท่านั้น อีกทั้งโรงกลั่นก็มองยางมะตอยเป็นแค่ by product หรือผลิตภัณฑ์พลอยได้ ไม่มีนัยยะสำคัญกับฐานรายได้

 

สรุปปัจจัยบวกของ TASCO มาจาก (1)ไตรมาส 4/15 กำไรสุทธิยังน่าจะสร้างนิวไฮขึ้นไปจากไตรมาส 3/15 (1,450 ล้านบาท) เพราะสเปรดไตรมาส 4/15 ก็ดีกว่าไตรมาส 3/15 ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (2)ซื้อกิจการเพิ่มอีก 5 แห่ง ในช่วงที่ธุรกิจเป็นขาขึ้น มาร์จิ้นสูง คาดว่าจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้น (3)ยางมะตอยยังมีดีมานด์ในภูมิภาคนี้ยังสูง เพราะเป็นยุคที่ประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย ลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการสร้างถนนใหม่จำนวนมาก และในยุคถัดจากนี้ไป คาดว่าพม่ากับกัมพูชา จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ตามมาในปีถัด ๆ ไป ที่สำคัญปัจจุบันจีนยังคงมีการนำเข้ายางมะตอยอย่างต่อเนื่อง  (4)ราคาน้ำมันคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำนาน ทำให้ TASCO มีต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ ราคายางมะตอยถ้าถูกกำหนดโดยดีมานด์ราคาแม้ลดต่ำลง แต่อัตราการลดลงของราคายางมะตอยยังไม่เท่ากับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง เราจึงคาดว่าปี 2016 ยังเป็นปีที่ดีสำหรับ TASCO ต่อเนื่องจากปี 2015

 

วชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย

1 ธันวาคม 2015