tsa.or.th
EPG หุ้นนวตกรรมตัวแรกของเมืองไทย
ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปทำความรู้จักกับบริษัทที่ได้รับการขนานนามจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เป็นหุ้นนวตกรรมตัวแรกของเมืองไทย เข้าจดทะเบียนในช่วงปลายปีที่แล้ว นั่นคือ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) ซึ่งทำธุรกิจใน 3 ส่วนอุตสาหกรรมคือ วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารและเครื่องดื่ม โดยสัดส่วนรายได้จาก 3 ส่วนนี้ อยู่ในระดับพอ ๆ กัน คือราว 30% กว่า ที่น่าชื่นชมคือ EPG ยกระดับขึ้นมาจากการเป็นโรงงานที่ทำ OEM หรือ Original Equipment Manufacturer ไปสู่การเป็น ODM หรือ Original Design Manufacturer คือผู้ผลิตที่มีการดีไซน์และพัฒนาสินค้าร่วมกันไปกับลูกค้า ทำให้ตรงตามความต้องการของตลาดและสินค้าขายดีขึ้น รวมถึงการเป็น OBM หรือ Original Brand Manufacturer คือผู้ผลิตที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ทั้งใน 3 ส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งจะขอแยกพูดถึงรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนี้
ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าที่ผลิตเป็นฉนวนยางหุ้มท่อต่าง ๆ ฉนวนกันร้อนกันเย็น และเริ่มทำฉนวนกันความร้อนใต้ฝ้าหลังคา ภายใต้แบรนด์ ชื่อ Aeroflex โดยบริษัทมีกำลังการผลิตทั้งในส่วนที่เป็นฉนวนยางทั่วไป ที่เรียกว่า NBR หรือ Nitrile Butadiene Rubber ราว 14,000 ตันต่อปี และผลิตฉนวนยางที่ใช้เทคโนโลยีสูงขั้นมาอีกขั้น คือ EPDM หรือ Ethylene Propylene Diene Monomer ซึ่งทนความร้อน และไม่มีสารก่อมะเร็ง ซึ่งเริ่มนิยมแพร่หลายมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว กำลังการผลิตราว 15,000 ตันต่อปี ทั้งสองประเภทใช้กำลังการผลิตอยู่ 60% ของกำลังการผลิตเต็มที่ สินค้าจำหน่ายในประเทศ 28% จำหน่ายต่างประเทศ 72% ในสหรัฐฯ เยอรมัน อินเดีย และจีน โดยกินส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทย 65% ส่วนแบ่งในสหรัฐฯ ถึง 20% โดยมีฐานการผลิตตั้งอยู่ที่นั่นด้วย ส่วนในเอเชีย เป็นการส่งออกไป ก็กินส่วนแบ่งตลาดโดยรวมในเอเชีย(ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย) มากถึง 30% ส่วนยุโรป (เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ รัสเซีย) มีส่วนแบ่งตลาด 4% หากนับรวมมูลค่าสินค้านี้ในตลาดโลก Aeroflex จะมีส่วนแบ่งตลาดในโลก 10% การพัฒนาต่อยอดสินค้ายังคงทำต่อไปเรื่อย ๆ เพิ่งออกผลิตภัณฑ์และเริ่มทำการตลาดสินค้า Aeroroof สินค้านี้เข้ามาแข่งกันฉนวนใยแก้วกันความร้อนใต้ฝ้าเพดาน ลดความร้อนในอาคาร รวมถึงการนำเศษวัสดุของ Aeroflex มาทำผลิตภัณฑ์ป้องกันเสียง วัตถุดิบหลักที่ใช้คือพวกยางสังเคราะห์ หรือ Syntetic Rubber รวมถึงเม็ดพลาสติก กลุ่ม PE และ
ธุรกิจยานยนต์ สินค้าหลักคือส่วนที่เป็น Bed Liner (แผ่นปูพื้น) หลังคาและ Side Step ของรถกระบะ ผลิตภายใต้แบรนด์ตัวเองชื่อ Aeroklas รวมทั้งผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกันกับลูกค้าและผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า โดยบริษัทมีกำลังการผลิตในส่วนของ Bed Liner 800,000 ชิ้นต่อปี Deck cover และ Canopy รวมกัน 50,000 ชิ้นต่อปี และเพิ่งเริ่มการผลิต Side step รถกระบะของ Ford ประเทศไทยเพื่อส่งออก กำลังการผลิต 100,000 ชิ้นต่อปี ดังนั้นในช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่ารายได้และกำไรในส่วนนี้จะเพิ่มเข้ามาให้บริษัทอย่างมีนัยยะสำคัญ ในเดือน มี.ค.58 Aeroklas Australia ถือหุ้น 100% โดย EPG ได้เข้าซื้อกิจการของ TJM Products PTY Ltd ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายประดับยนต์ ในออสเตรเลีย ซึ่งมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งยาวนานมาถึง 43 ปี ด้วยเงินลงทุน 22 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 600 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับได้เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายของตัวเองทั่วออสเตรเลีย และยังมีเครือข่ายบริษัทย่อยในสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสามารถส่งออกแบรนด์สินค้า TJM ไปจำหน่ายทั่วโลก จากเดิมบริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุน 300 ล้านบาท สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายของ Aeroklas ขึ้นมาเอง แต่บริษัทตัดสินใจเทคโอเวอร์ TJM เพราะมองว่าคุ้มค่ากว่า แบรนด์ TJM เป็นที่รู้จักอยู่แล้วทั่วโลก ขณะที่สินค้า Aeroklas เองก็มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกในส่วนของ Bed Liner และ Canopy ประมาณ 25%-30% สัดส่วนรายได้ของ Aeroklas ในประเทศ 28% และต่างประเทศรวมถึงส่งออกคิดเป็น 72% ของยอดขายรวม นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนถือหุ้นในบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่น 2 แห่งคือ Tokai Eastern Rubber (Thailand) Co Ltd ซึ่ง EPG ถือหุ้น 29.5% และ Zeon Advanced Polymix (ZAP) ซึ่ง EPG ถือหุ้น 27% ทำให้ EPG รับรู้กำไรเข้ามาปีละราว 200-300 ล้านบาท
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม การก้าวเข้าสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์นี้เกิดจากการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ของ บริษัทไทยโมเดิร์นพลาสติก หรือ TM ซึ่งเคยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่มีปัญหาทางการเงินอย่างหนักในช่วงปี 2540 จนต้องเข้ากระบวนการทำแผนฟื้นฟู และถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ไปในช่วงกลางปี 2541 ซึ่งกลุ่ม EPG ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ที่เป็นโรงงาน เครื่องจักร รวมถึงพนักงานที่หลายคนยังคงทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดใช้เงินลงทุน 240 ล้านบาท ในช่วงที่เข้าซื้อกิจการ TM มียอดขายราว 200 ล้านบาท แต่ปัจจุบันกิจการนี้ ภายใต้แบรนด์ EPP มียอดขายต่อปีเพิ่มมาเป็น 2,500 ล้านบาท และมีลูกค้าในมือทั้งสิ้นกว่า 400 ราย ลูกค้าที่สำคัญคือ แมคโดนัลด์ โดยผลิตแก้วเครื่องดื่มทุกประเภทของแมคโดนัลด์ในภูมิภาคนี้ ภาชนะใส่อาหารของ 7-11 ยำยำแบบถ้วย ออบองแปง สายการบินมาเลเซีย ฯลฯ ไม่เพียงแต่ผลิตตามความต้องการของลูกค้า (OEM) EPP ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เรียกว่าเป็นธุรกิจ ODM มากกว่าเป็นเพียง OEM ล่าสุดบริษัทได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นนวตกรรมแผ่นปูชามก๋วยเตี๋ยว ใช้แล้วทิ้งเลย เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาดจานชาม กำลังทำผลสำรวจและให้ทดลองใช้ ซึ่งลูกค้าจะได้ประหยัดค่าจ้างแรงงานในการล้างชามไปได้มาก และทำให้เพิ่มความถี่ในการขาย คาดว่าสัดส่วนการขายบรรจุภัณฑ์นี้ 90% มาจากในประเทศ ส่งออกมีเพียง 10% เพราะความต้องการในประเทศยังมีมาก กำลังการผลิตก็ยังจำกัด แต่ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระดับ 60-70% คาดว่าจะดำเนินการขยายเมื่อใช้กำลังการผลิตมากถึง 80%
ส่วนที่น่าสนใจมากสำหรับ EPG คือเป็นบริษัทที่ลงทุนด้านการทำ R&D คิดเป็นประมาณ 1% ของยอดขายต่อปี คาดว่าปี 2559 ยอดขายคงเพิ่มไปที่ 10,000 ล้านบาท และงบ R&D คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 100 ล้านบาท ในการไปเยี่ยมชมกิจการครั้งนี้ บริษัทได้พาชมกิจการของส่วนงาน R&D เราคิดว่าในวันนี้ผู้ที่ใช้หน่วยงาน R&D มากที่สุดน่าจะเป็นส่วนธุรกิจยานยนต์ Aeroklas ที่น่าสนใจคือ บริษัทมีเครื่องทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่นอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก นอกจากนี้บริษัทมีเครื่องพริ้นเตอร์ 3D เพื่อใช้ช่วยในการทำแม่พิมพ์ (Mold) โดยการทดลองพิมพ์ชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ออกมาก่อน ลงมือแกะแม่พิมพ์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำแม่พิมพ์ไปได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์ทีเดียว นอกจากนี้ ในส่วนงาน R&D นี้เราเห็นบริษัทเตรียมพื้นที่ไว้เผื่อการขยายกิจการ R&D อีกมาก โดยปัจจุบันนี้ก็รับจ้างลูกค้าทำ R&D และการทดสอบต่าง ๆ แม้เป็นหน่วยงานที่เคยเป็น Cost Center และขาดทุนมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันเป็นปีแรกที่เริ่มมีกำไรแล้ว
ทางด้านงบการเงิน งบการเงินในรอบบัญชีของ EPG (1 เมษายน ถึง 30 มีนาคม) พบว่า ในปี 2556/57 มีกำไรสุทธิ 631 ล้านบาท และปี 2557/58 มีกำไรสุทธิ 628 ล้านบาท ลดลง 0.4%YoY อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 26.1% และ 26.3% ตามลำดับ แต่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 20.1% และลดมาเป็น 19.9% สาเหตุเพราะการปันส่วนจากบริษัทร่วมลดลง จาก 306 ล้านบาท ในปี 2556/57 มาเหลือ 229 ล้านบาท ในปี 2557/58 อย่างไรก็ตาม ยอดขายและกำไรของ EPG รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว คือช่วง ม.ค.-มี.ค.58 เพราะวัตถุดิบและราคาพลังงานลดลง วัตถุดิบคิดเป็น 30% ของยอดขายรวม กำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/57-58 เท่ากับ 179 ล้านบาท และกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/58-59 เท่ากับ 288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% QoQ และเพิ่มขึ้น 80% YoY อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 28.4% และ 30.8% ตามลำดับ ดีกว่างวด 2 ปีก่อนที่อยู่ราว 26% เป็นผลจากราคาวัตถุดิบประเภทเม็ดพลาสติกลดลง และการประหยัดจากขนาดการผลิต อัตรากำไรสุทธิก็ดีขึ้นจากระดับ 9% กว่าในช่วงปี 2557-2558 มาอยู่ที่ 10.1% ในไตรมาส 4 ปีก่อน และ 13.9% ในไตรมาส 1 ปีปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/58-59 (มิถุนายน – กันยายน 2558) จะมีกำไรดีมากขึ้นมาเป็นราว 330-380 ล้านบาท และแนวโน้มไตรมาส 3/58-59 (ตุลาคม – ธันวาคม 2558) ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นไปอีก จากการเปิดสายการผลิตเพิ่มในส่วนของ ผลิตภัณฑ์ใหม่ Aeroroof ที่เพิ่งขยายตลาด Aeroklas ขยายส่วนของ Side Step ตั้งแต่กรกฎาคม 2558 รถยนต์กระบะ มีการออกรุ่นใหม่กันแทบทุกค่าย ทั้ง Mitsubishi Isuzu Ford และ Toyota และการขยายกำลังการผลิตของ EPP Plant 2
คาดการณ์กำไรสุทธิในปี 2558/59 คาดว่ากำไรจะอยู่ในระดับ 1,400 ล้านบาท EPS 0.50 บาทต่อหุ้น (จำนวนหุ้น 2,800 ล้านหุ้น) และปี 2559/60 คาดว่ากำไรจะขยายตัว 12.5% เป็น 1,575 ล้านบาท EPS 0.56 บาทต่อหุ้น ผลตอบแทนปันผลราว 3% โดยคาดว่าการขยายงานน่าจะให้ผลเต็มที่ และเชื่อว่ายอดขายรถกระบะใหม่ทั้งในประเทศ และส่งออกจะกลับมาเติบโต จากการที่เพิ่งออกรถรุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ Aeroroof น่าจะมียอดขายได้ดี และออเดอร์ต่างประเทศของ Aeroflex น่าจะดีด้วยโดยเฉพาะจากเมืองจีน ซึ่งจะสร้างเมืองใหม่ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ฉนวนที่เป็น EPDM ทั้งหมด อีกทั้งคาดว่า ราคาเม็ดพลาสติกที่ปรับลดลงจากซัพพลายส่วนเกินเกิดขึ้นทั่วโลกยังจะส่งผลบวกให้กับ EPG ในปีหน้าทำให้อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น จุดก้าวกระโดดสำคัญของกำไรอีกครั้งน่าจะอยู่ในปี 2560/61 บริษัทตั้งเป้าหมายจะนำ TJM ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นออสเตรเลียด้วย ในปีนั้นการเติบโตน่าจะเห็นเป็น 2 เท่าของกำไรปีปัจจุบัน เราคาดการณ์ไว้ราว 3,000 ล้านบาท EPS 1.07 บาทต่อหุ้น หากเป็นจริงจะทำให้ EPG ที่ปัจจุบันมีค่า forward PER ราว 18 เท่า มีค่า PER ลดลงในอีก 2 ปีได้
แผนงานข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายทั้งตลาดใหม่ และขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงจะมีการทำ M&A ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ 3 ประเภทธุรกิจหลักที่บริษัททำอยู่ อัตรากำไรของกิจการ EPG ซึ่งเป็นธุรกิจ ODM และ OBM มากกว่ากิจการทั่วไปที่เป็น OEM อย่างเด่นชัด อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิของ EPG เฉลี่ย 2-3 ปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 26% และ 10% แต่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านับจากปีนี้ คาดว่ากำลังปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 29-30% และ 13-15% ตามลำดับ สาเหตุสำคัญเกิดจากราคาวัตถุดิบประเภทพลาสติกนับจาปลายปี 2557 ปรับตัวลดลงมากตามราคาน้ำมันที่ลดลง ซัพพลายของเม็ดพลาสติกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังมีภาวะล้นตลาดอย่างมาก ซึ่งน่าจะส่งผลบวกมาให้ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้เม็ดพลาสติกเป็นวัตถุดิบต่อไป แม้ว่าอาจจะต้องลดราคาสินค้าปลายทางลงให้กับลูกค้า แต่การมีนวตกรรมที่ทำการวิจัยและพัฒนาในการช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า ทำให้บริษัทลูกค้าไม่เกี่ยงเรื่องราคาผลิตภัณฑ์มากเท่ากับกลุ่มธุรกิจที่เป็น OEM อย่างเดียว นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการประหยัดจากขนาดการผลิตต่อหน่วย หรือ Economy of Scale อีกด้วย เราประเมินมูลค่าของ EPG โดยให้ค่า PER ได้ถึง 20 เท่าได้เพราะเชื่อว่าค่า PER จากระดับราคาหุ้นปัจจุบัน จะลดลงได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า EPG ทำให้นึกถึงหุ้น STANLY เมื่อ 20 ปีก่อน STANLY เป็นหุ้นที่มี PER สูงตลอด แต่ใครเข้าไปศึกษาหรือดูกิจการโรงงานของเขาแล้วก็ต้องยอมรับว่าเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญในเรื่อง R&D อย่างมาก การร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันความต้องการลูกค้า ทำให้กิจการแบบนี้ยกตัวเองขึ้นมาอีกระดับจากกิจการคอมมอดิตี้ และ OEM และสามารถมีการเติบโตที่ยั่งยืนทั้งกำไรและราคาหุ้น STANLY นับเป็นหุ้นที่ปรับตัวขึ้นหลายเท่าตัวนับตั้งแต่เข้าตลาดมา คาดว่าอนาคตของ EPG ก็อาจมีลักษณะคล้าย STANLY ในแง่การเติบโตที่ยั่งยืน
© Thai Shareholder Association 2015 All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ สมาคมผู้ถือหุ้นไทย พ.ศ. 2558 และ ชมรมผู้ถือหุ้นไทย พ.ศ. 2557